การรวมตัวภาคการธนาคารเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยเปรียบเสมือนกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนและสนับสนุนความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างสมาชิกในภูมิภาค
ในปี 2554 เพื่อสนับสนุนการรวมตัวของภาคเศรษฐกิจจริงที่เข้าสู่การเป็น AEC ผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนได้เห็นชอบให้ริเริ่มการจัดทำกรอบการรวมตัวภาคการธนาคารอาเซียน (ASEAN Banking Integration Framework: ABIF) เป็นแนวทางส่งเสริมให้การรวมตัวภาคการธนาคารของอาเซียนดำเนินไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับลักษณะของประเทศสมาชิกโดยมีเป้าหมายให้ประเทศสมาชิกมีการจัดตั้ง Qualified ASEAN Banks (QABs) ระหว่างกันให้ได้ภายในปี 2563 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนได้ลงนามเห็นชอบต่อกรอบการรวมตัวภาคการธนาคารอาเซียนดังกล่าว โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกสามารถเจรจาทวิภาคีเพื่อจัดตั้ง QABs ระหว่างกันได้ บนหลักการต่างตอบแทน ตามความพร้อมของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ที่อาจเข้าข่ายได้รับการคัดเลือกเป็น QABs จะต้องเป็นธนาคารพาณิชย์สัญชาติอาเซียน มีที่ความแข็งแกร่ง และผ่านเกณฑ์การคัดเลือกของ Host country ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการส่งเสริมการกำกับดูแลและรักษาเสถียรภาพในระบบการเงินของสมาชิกอาเซียน
การเตรียมความพร้อมของธนาคารพาณิชย์ไทยต่อการเข้าสู่ AEC และการจัดตั้ง QABs ระหว่างกัน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ไทยได้มีความตื่นตัวและตอบสนองต่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในสิ้นปี 2558 ผ่านการปรับยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ รวมถึงกระบวนการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องต่อแนวโน้มการค้าการลงทุนภายในภูมิภาคที่เพิ่มสูงขึ้น
ปริมาณการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในอาเซียนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการช่วยผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ไทยขยายกิจการออกไปสู่ภูมิภาคอาเซียนเพื่อให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งนี้ หลายปีที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ไทยได้มองเห็นถึงโอกาสในการออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอินโดจีน เนื่องจากผู้ประกอบการไทยหลายรายได้เพิ่มการลงทุนและย้ายฐานการผลิตไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวเนื่องจากมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง ต้นทุนทางการผลิตต่ำ รวมถึงยังอาจได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากร (Generalized System of Preferences: GSP) ในสินค้าส่งออกบางประเภท อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตอบสนองต่อโอกาสทางธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ต้องการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ในอาเซียนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่ง QABs จะเป็นช่องทางในการขยายกิจการเข้าไปในภูมิภาคที่สำคัญของธนาคารพาณิชย์ไทย เนื่องจากในปัจจุบันประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ไม่ได้เปิดให้ใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์เป็นการทั่วไป นอกจากนี้ การเจรจาภายใต้กรอบดังกล่าวยังเป็นหน้าต่างที่สำคัญของ ธปท. ในการเจรจาลดข้อจำกัดทางธุรกิจเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ไทยสามารถดำเนินกิจการในอาเซียนได้สะดวกยิ่งขึ้น