ประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินเรื่อง เป้าหมายนโยบายการเงิน ปี 2564

นโยบายทางการเงิน ถือว่าเป็นหัวใจหลักในการกำหนดเสถียรภาพทางการเงินและการดำเนินงานในตลาดการเงิน ด้วยว่า ตลาดการเงินมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยเป็นศูนย์กลางของการทำธุรกรรมเพื่อการกู้ยืมและการลงทุน ซึ่งเงินที่หมุนเวียนในระบบการเงินจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ที่ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เหตุผลในการออกประกาศ

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2564 ที่เป็นความตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติในมาตรา 28/8 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551

อำนาจตามกฎหมาย

กนง. ได้ออกประกาศฉบับนี้เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามความในมาตรา 28/8 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2548 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551

เนื้อหาเป้าหมายนโยบายการเงิน ปี 2564

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะประธาน คณะกรรมการนโยบายการเงินได้ตกลงร่วมกัน เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินการของ ธปท. ดังนี้

1. หลักการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น

บริบทของเศรษฐกิจโลกและไทยที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไทยในระยะข้างหน้าเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง ทั้งจากปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทาน ได้แก่

(1) เศรษฐกิจโลกและไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าตามการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เผชิญข้อจำกัดมากขึ้นจากมาตรการควบคุมการระบาด
(2) ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศโดยเฉพาะความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (degelobalization) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งทางการค้าและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่อาจส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและ
(3) การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจ e-commerce และการนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนแรงงานในกระบวนการผลิต (automation) หลังการแพร่ระบาดของ Covid-19 ยังเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อให้ต่ำลงอย่างต่อเนื่อง

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่ได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย อย่างรุนแรงและยังมีความไม่แน่นอนสูง

กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะได้มีความร่วมมือในการดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ให้มีความสอดประสานกันมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การฟื้นตัวและเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างมั่นคงและ ยั่งยืนในระยะยาว

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่ได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรงและยังมีความไม่แน่นอนสูง กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะได้มีความร่วมมือในการดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินให้มีความสอดประสานกันมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การฟื้นตัวและเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว ทั้งนี้การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นเอื้อให้ กนง. สามารถพิจารณานโยบายการเงินได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินของไทยที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า โดยในปัจจุบัน กนง. ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เป็นสำคัญ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลาง และการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาและเติบโตททางเศรษฐกิจในระยะยาว

ในการตัดสินนโยบายการเงินแต่ละครั้ง กนง. จะพิจารณาความสำคัญของเป้าหมายด้านต่างๆ อย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมทั้งในระยะสั้นและระยะยาวและชั่งน้ำหนักข้อดีและข้อเสียของการดำเนินนโยบายการเงินในแต่ละทางเลือก (policy trade-off) ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงพร้อมใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงินต่างๆ ที่มีอยู่ในลักษณะผสมผสาน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

2. เป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับ ระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2564

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ กนง. มีข้อตกลงร่วมกันโดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลางและเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2564 โดยอัตราเงินเฟ้อในช่วงดังกล่าวเป็นระดับที่เหมาะสมกับพลวัตเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ เป้าหมายแบบช่วงช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้โลกที่ผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบกับสามารถดูแลเป้าหมายด้าน การเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ การกำหนดเป้าหมายระยะปานกลางเพื่อให้สอดคล้องกับประสิทธิผลการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องใช้เวลาในการส่งผ่านผลไปยังภาคเศรษฐกิจจริง

3. การติดตามความเคลื่อนไหวของการเป้าหมายของนโยบายการเงิน

กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะหารือร่วมกันเป็นประจำและ/หรือเมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นตามที่ทั้งสองหน่วยงานจะเห็นสมควร เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเป็นไปในทิศทางที่สอดประสานกัน

กนง. จะจัดทำรายงานผลการดำเนินนโยบายการเงินทุกครึ่งปี ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับ
(1) การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา
(2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป และ
(3) การคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจในอนาคต

เพื่อแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบรวมถึงจะเผยแพร่รายงานนโยบายการเงินทุกไตรมาสเป็นการทั่วไป อันจะช่วยเพิ่มการรับรู้ของสาธารณชนถึงแนวทางการตัดสินนโยบายการเงินของ กนง. ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต

4. การเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปนอกกรอบเป้าหมาย

กนง. ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะต่อไปจะผันผวนจากความไม่แน่นอนของราคาพลังงานและราคาอาหารสด ความเสี่ยงจากต่างประเทศโดยเฉพาะนโยบายกีดกัน ทางการค้าของสหรัฐอเมริกาและมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าต่างๆ ดังนั้น หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกเป้าหมาย กนง.จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรว่าการกระทรวงการคลัง โดยจะชี้แจงถึง

ข้อชี้แจงในจดหมาย
เปิดผนึก

  • สาเหตุของการเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายดังกล่าว
  • แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาและในระยะต่อไปเพื่อนำอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม
  • ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย

นอกจากนี้ กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทุก 6 เดือน หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยตามแนวทางข้างต้นยังคงอยู่นอกกรอบเป้าหมาย และรายงานความคืบหน้าของแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสมควร

5. การแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงิน

ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ กนง. อาจตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

บันทึกลงใน

My Collections

เพิ่มลงในโฟลเดอร์

สร้างโฟลเดอร์

Cryptocurrency

นโยบายการเงิน

Fintech

ดอกเบี้ย

กรุณาหมุนหน้าจอของคุณเป็นแนวตั้ง
เพื่อประสบการณ์ที่ดีในการรับชมเว็บไซต์