ธปท. มีหน้าที่กำกับดูแลผู้ให้บริการระบบการชำระเงินตามพระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน) ซึ่งมีคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.) เป็นผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับระบบการชำระเงินที่ ธปท. กำกับดูแลและระบบการหักบัญชีระหว่างสถาบันการเงิน รวมถึงติดตามการดำเนินงานของ ธปท. ในการจัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน ทั้งนี้ ธปท. มีวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลระบบการชำระเงิน เพื่อให้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ตามหลักการมาตรฐานสากล สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการ ซึ่งนำไปสู่การมีเสถียรภาพของระบบการชำระเงินและระบบการเงินโดยรวม
การกำกับดูแล
ระบบการชำระเงิน
วัตถุประสงค์และบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ในการกำกับดูแลระบบการชำระเงิน
ระบบการชำระเงินมีความสำคัญในฐานะเป็นเครื่องมือที่หล่อลื่นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศให้ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง โดยช่วยสนับสนุนและรองรับการทำธุรกรรมทางการเงินของสถาบันการเงิน ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ให้สามารถดำเนินการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ (Financial stability)
ระบบการชำระเงินมี
ความสำคัญในฐานะเป็นเครื่องมือ
ที่หล่อลื่นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ของประเทศให้ดำเนินไปได้
อย่างต่อเนื่องและมั่นคง
การกำกับดูแลระบบการชำระเงินในประเทศไทย
ธปท. ได้จัดทำ “กรอบการกำกับดูแลระบบการชำระเงินในประเทศไทย (Oversight Framework of Payment Systems in Thailand)” เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินการของ ธปท. ในการกำกับดูแลระบบการชำระเงิน ดังนี้
1. การกำกับดูแลตาม พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน
การกำกับดูแลตาม พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่
1.1 ระบบการชำระเงินที่มีความสำคัญ ได้แก่ ระบบบาทเนต (Bank of Thailand Automated High-value Transfer Network: BAHTNET) และระบบการหักบัญชีเช็คด้วยภาพเช็ค (Imaged Cheque Clearing and Archive System: ICAS) ซึ่งเป็นระบบที่ ธปท. จัดตั้งและดำเนินการ
1.2 ระบบการชำระเงินภายใต้การกำกับ ได้แก่ (1) ระบบโอนเงินรายย่อยระหว่างผู้ใช้บริการของระบบ (Inter-institution Fund Transfer System) (2) ระบบเครือข่ายบัตร (Payment Card Network) และ (3) ระบบการชำระดุล (Settlement System)
1.3 บริการการชำระเงินภายใต้การกำกับ ได้แก่ (1) การให้บริการบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตรเอทีเอ็ม (2) การให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (3) การให้บริการรับชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แทนผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการหรือเจ้าหนี้ (4) การให้บริการโอนเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และ (5) การให้บริการการชำระเงินอื่นใดที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบการเงิน หรือประโยชน์สาธารณะ
ทั้งนี้ พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน มีบทบัญญัติในเรื่องที่สำคัญต่อเสถียรภาพระบบการชำระเงิน โดยมีการคุ้มครองการโอนเงิน การชำระดุล หรือการหักบัญชีที่ได้ดำเนินการผ่านระบบการชำระเงินที่มีความสำคัญก่อนเวลาที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการหรือมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของสมาชิก ให้มีผลสมบูรณ์ไม่สามารถเพิกถอน กลับรายการ แก้ไข หยุด หรือระงับได้ (Payment finality) เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องเป็นวงกว้าง (Systemic risk)
หลักการกำกับดูแล 5 ด้าน
- ด้านฐานะทางการเงิน
- ด้านธรรมาภิบาล
- ด้านการบริหารความเสี่ยงและความปลอดภัย
- ด้านการคุ้มครองผู้ใช้บริการ
- ด้านการส่งเสริมประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขัน
โดย พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน ได้ให้อำนาจ ธปท. ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลระบบการชำระเงิน โดยมีตามกรอบหลักการกำกับดูแล 5 ด้าน คือ (1) ด้านฐานะทางการเงิน (2) ด้านธรรมาภิบาล (3) ด้านการบริหารความเสี่ยงและความปลอดภัย (4) ด้านการคุ้มครองผู้ใช้บริการ และ (5) ด้านการส่งเสริมประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ ธปท. สามารถเข้าตรวจสอบและขอข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสั่งให้แก้ไขฐานะทางการเงินหรือการดำเนินงานที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน หรือฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท. ประกาศกำหนด
2. การกำกับดูแลตามมาตรฐานสากล
คณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.) ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดกลุ่มระบบการชำระเงินตามระดับความสำคัญ รวมถึงได้วางกรอบการกำกับดูแลระบบการชำระเงินในแต่ละกลุ่มเพื่อให้มีการกำกับดูแลที่สอดคล้องกับหลักการตามมาตรฐานสากล (Principles for Financial Market Infrastructures: PFMI) ที่ออกโดย Committee on Payments and Market Infrastructures (CPMI) ร่วมกับ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) เมื่อเดือนเมษายน 2555 ซึ่งการกำกับดูแลตามมาตรฐานสากล PFMI สรุปสาระ สำคัญได้ดังนี้
2.1 ระบบการชำระเงินที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของระบบการเงินของประเทศ (Systemically Important Payment System: SIPS) ได้แก่ ระบบบาทเนต (BAHTNET) ที่ดำเนินการโดย ธปท. เนื่องจากเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน (Financial Market Infrastructure: FMI) ของประเทศ รองรับธุรกรรมการโอนเงินมูลค่าสูงระหว่างสถาบันการเงินและใช้สำหรับชำระดุลธุรกรรมตลาดเงินและระบบการชำระเงินอื่น ซึ่งหากระบบหยุดชะงักอาจส่งผลกระทบต่อสมาชิกในระบบอย่างต่อเนื่องเป็นวงกว้าง (Systemic risk) หรือเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบการชำระเงิน จึงต้องมีการกำกับดูแลระบบ SIPS ให้ดำเนินการได้ตามมาตรฐานสากล PFMI ที่ใช้กับระบบการชำระเงินทุกข้อ (รวม 18 ข้อ)
2.2 ระบบการชำระเงินรายย่อยที่มีความสำคัญ (Prominently Important Retail Payment Systems: PIRPS) ได้แก่ ระบบ ICAS ซึ่งดำเนินการโดย ธปท. และระบบการโอนเงินรายย่อยระหว่างธนาคาร (Interbank Transaction Management and Exchange: ITMX) ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (NITMX) โดยในการกำกับดูแลระบบ PIRPS จะใช้มาตรฐานสากล PFMI จำนวน 14 ข้อ โดยไม่รวมถึงหลักการที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงทางการเงิน
3. กระบวนการกำกับดูแลระบบการชำระเงินของ ธปท.
3.1 การรวบรวมข้อมูลและติดตามการดำเนินงาน (Continuous off-site monitoring)
3.2 การประเมินความเสี่ยง (Risk assessment)
3.3 การตรวจสอบการดำเนินงาน (On-site examination)
3.4 การรายงานผลการกำกับดูแลต่อคณะกรรมการ (Reporting to committee)
3.5 การปรับปรุงแก้ไข (Improvement)
ความร่วมมือในการกำกับดูแลระบบการชำระเงิน (Co-operative Oversight)
ธปท. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลระบบการชำระเงิน มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการกำกับดูแลระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เชื่อมโยงกัน ให้มีความมั่นคงปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และมีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเพียงพอ และรวมถึงป้องกันความเสี่ยงในลักษณะลูกโซ่ (Systemic risk) ของทั้งระบบได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับมาตรฐานสากล PFMI ตามหลักการด้านหน้าที่ความรับผิดชอบของธนาคารกลางหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล (Responsibility E: Cooperation with other authorities) โดยมีการกำหนดขอบเขตความร่วมมือในการกำกับดูแลให้ครอบคลุมถึงเรื่องการกำหนดนโยบายและแผนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เชื่อมโยงกัน การดูแลความเสี่ยงที่สำคัญ และการจัดการกรณีที่ระบบเกิดปัญหาหรือขัดข้อง ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เชื่อมโยงกัน
1. หน่วยงานกำกับดูแลในประเทศ
ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลระบบศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (Central Securities Depositories: CSD) ระบบการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ (Securities Settlement Systems: SSS) และระบบสำนักหักบัญชีกลางสำหรับธุรกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ (Central Counterparties: CCP)
2. หน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ
ได้แก่ Hong Kong Monetary Authority (HKMA) ซึ่งกำกับดูแลระบบ US Dollar Clearing House Automated Transfer System (USD CHATS) โดยมีการเชื่อมโยงกับระบบบาทเนต (cross-border links) ในลักษณะการชำระดุลแบบข้ามพรมแดนในเวลาเดียวกันด้วยกลไก Payment-versus-Payment (PvP) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการชำระดุลธุรกรรมซื้อขายเงินบาทและเงินดอลลาร์สหรัฐ